ปัจจุบันเสียงดนตรีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นโดยที่เราอาจไม่ ทันสังเกตุ เสียงริงโทนจากโทรศัพท์ เสียงโฆษณาจากทางโทรทัศน์ การแสดงจากบรรดาศิลปินนักร้อง นักแสดง และนักดนตรี ต่างๆ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มสนใจที่จะฟังดนตรีมากขึ้น ดูดนตรีมากขึ้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาศิลปินไทยและต่างประเทศได้เกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน ความหลากหลายของดนตรีมีมากขึ้น เวทีที่เปิดให้นักร้อง นักดนตรีสมัครเล่นก็มีมากมาย จนเกิดเป็นกระแสให้วัยรุ่นมีความอยากเป็นนักร้อง นักดนตรีมากขึ้น จนต้องวิ่งเข้าหาสถานที่ฝึกฝนทางด้านดนตรีซึ่งมีมากมายในเมืองไทย บางส่วนก็ประสบความสำเร็จ แต่บางส่วนก็ต้องเลิกล้มความตั้งใจกลับบ้านไป เพราะเหตุใด?
การเรียนดนตรี ในความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ ยังคงคิดว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก ไม่มีพรสวรรค์เลย ไม่มีปัญญาเรียน ไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดที่ปิดกั้นตัวเองและปกป้องตนเองจากการล้มเหลวในการ เรียนดนตรีทั้งสิ้น จริงอยู่ผู้เขียนไม่ปฏิเสธเลย ว่าการเรียนดนตรีเป็นสิ่งที่ยาก เนื่องจากเป็นทั้งศาสตร์และเป็นทั้งศิลป์ ที่เกิดจากฝึกฝนทักษะอย่างชำนาญ ประกอบกับความเข้าใจในดนตรีซึ้งเป็นศิลปะและความซาบซึ้งในดนตรี แต่สิ่งที่ยากกว่านี้คือ ความมุ่งมั่น ความอดทนในการฝึกฝน ความมีวินัยในการฝึกอย่างสม่ำเสมอ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความรักในดนตรี หากใจไม่รักแล้วทุกสิ่งก็ไม่บังเกิด เหมือนกับโดนขืนใจทุกครั้งยามที่ต้องเล่นดนตรี
นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมาแล้ว การเรียนดนตรีให้สำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีครู อาจารย์ มีผู้แนะนำ คอยสั่งคอยสอน เป็นเหมือนผู้ชี้ทางให้เราเดินไปในทางที่ถูกต้อง ดังนั้นการมีครูที่ดี ที่เก่ง คอยแนะนำจึงเหมือนไกด์นำทางให้เราถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ไม่เสียเวลาเดินวนไปวนมา หลงทางแล้วหลงทางอีก จนแล้วจนรอดก็ไปไม่ถึงไหนสักที
บรรยากาศในการเรียนดนตรี ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน การมีสถานที่ที่ดี เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์เครื่องดนตรีที่ดี ส่งเสริมให้มีความอยากเรียนดนตรีมากขึ้น ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยสอนดนตรีตามบ้านของนักเรียน ปรากฎว่าบรรยากาศไม่น่าเรียนเลย เมื่อครูไปถึงนักเรียนยังไม่มีความพร้อมที่จะเรียนดนตรี เพราะผู้ปกครองยังคงปล่อยให้เล่นเกมส์อยู่ ดังนั้นจิตใจผู้เรียนจึงยังจดจ่อกับเกมส์ที่เล่นอยู่ ครั้นพอเริ่มเรียนก็อยากให้เวลาจบเร็วๆ เพราะจะได้กับไปเล่นเกมส์ต่อ ทำให้การเรียนการสอนในวันนั้นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร บางบ้านผู้เรียนก็เรียนไป แม่ก็เปิดทีวีดู น้องก็วิ่งเล่น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้การเรียนการสอนไม่ประสบผลสำเร็จทั้งสิ้น ดังนั้นบรรยากาศในเรียนดนตรีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
ส่วนเรื่องอุปกรณ์เครื่องดนตรีก็ส่งผลให้การเรียนประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน ผู้เขียนมักจะยกตัวอย่างเช่นเดียวกับการขับรถยนต์ หากฝึกขับรถยนต์แต่ไม่มีรถยนต์ให้ขับจริงๆก็ไม่มีทางที่จะขับรถยนต์ได้อย่าง แน่นอน จึงตอบคำถามผู้ปกครองบางท่านได้อย่างดีว่าควรมีอุปกรณ์ดนตรีให้ลูกได้ฝึก ก่อนที่จะเริ่มเรียน ไม่ใช่ว่าเอาไว้ให้เล่นเก่งๆก่อนแล้วค่อยซื้อให้ นอกจากนี้อุปกรณ์เครื่องดนตรีที่ดีเปรียบเหมือนรถยนต์เช่นเดียวกัน หากรถที่ขับเป็นรถที่สภาพเก่า ทรุดโทรม ขับยาก พวงมาลัยหนัก เร่งไม่ขึ้น การเดินทางก็จะเติมไปด้วยความยากลำบาก เหนื่อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเราก็มักจะโทษที่รถยนต์ว่าเก่าแล้วไม่ดีแล้ว แต่ในการเรียนดนตรีผู้เรียนอาจไม่ได้คิดเช่นนั้น พอเจอเครื่องดนตรีที่ไม่ดีมักจะโทษตนเองเสียก่อน ว่าเล่นไม่ได้ ไม่มีพรสวรรค์แทน บางทีอาจถึงขั้นเลิกเล่นไปเลยก็เป็นได้
สุดท้ายองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการเรียนดนตรีก็คือ ตัวผู้เรียนนี่เอง หากไม่มีผู้เรียนแล้วทุกสิ่งที่กล่าวข้างต้นก็ไร้ความหมาย ดังนั้นผู้เรียนที่ดีควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร??
การมีใจรักในดนตรีเป็นสิ่งแรกที่ผู้เรียนทุกคนต้องมี เพราะถ้าไม่รักไม่ชอบแล้ว จะยอมเสียเวลามาเรียนทำไม จะยอมอดทนฝึกฝนทำไม ดังนั้นผู้เรียนควรมีใจรักในเสียงดนตรีมากๆ ด้วยการฟังดนตรีมากๆ ดูคอนเสิร์ตอย่างหลากหลายรูปแบบ หากเรียนเครื่องดนตรีชนิดใด ก็ควรฟังผู้อื่นเล่นให้มาก มีผู้กล่าวไว้ว่า หากเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างการดูดนตรี ฟังดนตรี กับการเล่นดนตรีนั้น สัดส่วนที่ว่าจะเป็น 9:1 หมายความว่าให้ดูให้ฟังดนตรี 9 ครั้งแล้วจึงกลับไปปฏิบัติดนตรีเพียง 1 ครั้ง
นอกจากการมีใจรักในดนตรีแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้เรียนจะต้องมีคือ ความมีวินัยในตนเอง และความอดทนอดกลั้น มีผู้กล่าวว่าศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ จะไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานของตนเองได้หากไม่มีวินัยในตนเอง การฝึกฝนดนตรีเป็นประจำนั้นนักดนตรีจะต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง บังคับตนเองให้ฝึกซ้อมดนตรีเป็นประจำและสม่ำเสมอ ส่วนความอดทนอดกลั้นนั้น นักดนตรีจะต้องมีความอดทนอย่างมาก บางครั้งนักดนตรีอาจต้องฝึกซ้อมเพลงเพียงประโยคเดียวซ้ำๆเป็นสิบรอบ ร้อยรอบเพื่อจะได้เล่นได้อย่างคล่องแคล่วและชำนาญ รวมถึงการฝึกซ้อมเพลงเป็นร้อยเป็นพันรอบเพื่อที่จะขึ้นแสดงบนเวทีเพียงรอบ เดียวเท่านั้น ดังนั้นนักดนตรีจึงต้องมีความอดทนทำให้มากพอ และอดทนทำให้นานพอ พอที่จะประสบความสำเร็จได้ และท้ายที่สุดจะต้องมีความมุ่งมั่นและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่ประสบ ความสำเร็จด้วย
ความสำเร็จในการเรียนการสอนดนตรีจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดองค์ประกอบดังที่ กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบด้านผู้สอน บรรยากาศในการเรียนการสอนและอุปกรณ์การเรียน และองค์ประกอบที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ตัวของผู้เรียนเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น